(นางสาวเทพากร สิทธิโคตร)

การกระทำที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยุดความอยากได้อยากมี

ผู้ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้กระหายในกิเลสไม่หยุดยั้ง การประมาณตนนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอยู่เสมอ

เพราะการรู้ตน ย่อมพาตนสู่ความเจริญ แต่การไม่เจียมตนนั้นอาจพาไปสู่หายนะก็เป็นได้ …

การเป็นผู้เจียมตน มิได้ขึ้นอยู่ที่ฐานะ หรือ การศึกษา หากแต่อยู่ที่ความคิดและสติปัญญาส่วนตน
การประมาณตนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ว่า

“…แม้จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงเพียงใด  ถ้าบกพร่องต่อการประมาณตนในทางปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

วิชาต่าง ๆที่ได้เล่าเรียนมาจนสำเร็จนั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถจะนำความเจริญมาสู่ตนและประเทศชาติสมดังความปรารถนา…”

ผู้ไม่เจียมตน จะเป็นผู้ร้อนเร่าแสวงหาไม่หยุดยั้ง หากนานเข้าอาจนำตนสู่ห้วงลึกแห่งความทุกข์ได้ ดังเช่น วิโรจนชาดก ที่ว่าด้วยเรื่องของสุนัขจิ้งจอกไม่เจียมตัว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นอย่ารอช้าไปฟังกันเลย …

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เวลานั้นภิกษุสงฆ์ทั้งปวงต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของพระเทวทัตที่ชอบเลียนแบบพระพุทธองค์อยู่เสมอ เหตุเพราะพระเทวทัตเกิดความอิจฉาริษยาพระพุทธเจ้า และบังอาจตั้งกฎปกครองสงฆ์ แต่พระพุทธองค์ไม่อนุญาตให้นำมาปฏิบัติ พระเทวทัตเมื่อถูกขัดใจก็ขุ่นเคืองจึงวางแผนแยกคณะสงฆ์ออกจากพระศาสดา โดยทำการชักชวนภิกษุที่บวชใหม่ในสำนักของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรจำนวน 500 รูปให้ไปตั้งคณะสงฆ์ใหม่

ต่อมา พระศาสดาทรงทราบเรื่องดังกล่าว และเมื่อความรู้ของภิกษุเหล่านั้นมากขึ้นพอที่จะฟังอรรถกถาทำได้แล้ว พระพุทธองค์จึงส่งพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรไปยังอารามใหม่ของพระเทวทัต เมื่อไปถึงพระเทวทัตก็ถือโอกาสอวดตนโดยการเลียนแบบท่านอนที่เหมือนกับพระศาสดาและยังมอบให้พระสารีบุตรแสดงพระธรรมเทศนาแทนตนด้วยคำพูดเดียวกับพระพุทธองค์อีกด้วย พระสารีบุตรนั้นเป็นผู้เป็นเลิศทางปัญญาเห็นดังนั้นจึงได้แสดงพระธรรมเทศนาให้พระภิกษุทั้งหลายตื่นจากความหลงผิด จนภิกษุเหล่านั้นกลับมาหาพระพุทธองค์ที่วัดเวฬุวันดังเดิม ด้านพระเทวทัตเมื่อรู้ว่าอารามของตนไม่มีภิกษุเหลืออยู่เลยก็เกิดความแค้นถึงขั้นกระอักเลือดออกมาอย่างน่ากลัว จากนั้นก็ล้มพับไป…

เมื่อพระสารีบุตรเล่าความของพระเทวทัตอันประพฤติอย่างไม่เจียมตนให้กับพระศาสดาฟัง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเล่าถึงนิทานชาดกเรื่อง วิโรจนชาดก ว่า …

ในอดีต ยังมีราชสีห์ ที่อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ในป่าหิมพานต์ ซึ่งราชสีห์นั้นจะไม่ออกจากถ้ำทองเลยหากไม่ต้องการอาหาร จะนอนอยู่บนแท่นทองอย่างนั้นเสมอ แต่เมื่อถึงเวลาแสดงบารมี พระยาราชสีห์ก็จะออกมายังหน้าถ้ำจ้องมองสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายเบื้องล่าง เมื่อเห็นเป้าหมายก็จะคำรามเสียงดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ เมื่อได้ยินเสียงคำรามพวกสัตว์ก็จะพากันอ่อนแรงกันถ้วนหน้า สัตว์ใหญ่แค่ไหนก็ไม่เคยรอดเงื้อมมือของราชสีห์ตนนั้นไปได้ วันหนึ่งเมื่อพระยาราชสีห์กินควายใหญ่ตัวหนึ่งเสร็จแล้วก็ไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในขณะที่เดินกลับถ้ำนั้น ได้พบกับสุนัขจิ้งจอกหลงทางตัวหนึ่ง ด้วยความกลัวตัวตายสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นจึงแสร้งอุบายว่า ตนนั้นเดินทางมาหาราชสีห์เพื่อจะอาสาเป็นผู้รับใช้ ตั้งแต่นั้นมาสุนัขจิ้งจอกก็ได้นอนในถ้ำทองและกินเนื้อเดนของราชสีห์อย่างสบายอกสบายใจ อยู่มาวันหนึ่งสุนัขจิ้งจอกก็คิดได้ว่า ตัวมันนั้นก็มิได้ต่างจากราชสีห์เลยมันควรจะได้เลือกกินสัตว์ที่ตนชอบบ้าง จึงตัดสินใจถามราชสีห์ว่าหากต้องการล่าสัตว์บ้างต้องทำอย่างไร ราชสีห์บอกว่าให้สุนัขจิ้งจอกนั้นออกไปมองดูว่าอยากกินเนื้ออะไร เมื่อเลือกได้แล้วก็ให้เข้ามาบอก พระยาราชสีห์ก็จะออกไปล่ามาให้ จิ้งจอกเห็นการล่าเหยื่อของราชสีห์เข้าบ่อยๆ ก็หลงคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่าย
จนวันหนึ่งเกิดหลงทะนงตนว่าตนนั้นก็ทำดังเช่นราชสีห์นั้นได้ จิ้งจอกจึงไปบอกราชสีห์ว่าอยากกินเนื้อช้างพลาย และให้สลับหน้าที่กันโดยให้ราชสีห์นั้นออกไปดูเหยื่อแล้วเข้ามาบอกตน เมื่อนั้นตนก็จะออกไปล่ามาให้ราชสีห์แทน จิ้งจอกอ้อนวอนเช่นนั้นอยู่หลายครั้งแต่พระยาราชสีห์ไม่อนุญาตเพราะรู้ว่าจิ้งจอกไม่สามารถฆ่าช้างได้ดังใจหมาย แต่จิ้งจอกก็ไม่ฟังกลับหาว่าราชสีห์นั้นหวงบารมี เมื่อราชสีห์ไม่อาจห้ามได้จึงทำตามที่สุนัขจิ้งจอกว่า ดังนั้นสุนัขจิ้งจอกจึงทำการเลียนแบบราชสีห์ขึ้นไปนอนบนแท่นทองนั้นเพื่อรอการร้องเรียกให้ออกไปล่าเหยื่อของราชสีห์นั้น ครั้นเมื่อได้ยินสัญญาณจากราชสีห์ สุนัขจิ้งจอกนั้นก็ออกไปนอกถ้ำแผดเสียงเลียนแบบราชสีห์ มันคำรามได้สักพักก็ใช้เท้ากระโจนลงสู้เบื้องล่างอย่างสุดแรง เจ้าจิ้งจอกกระโจนเข้าหาช้างพลายอย่างรวดเร็วแต่มันกระโดดไปไม่ถึงกลับตกลงกับพื้นใกล้กับเท้าของช้างนั้นพอดี พริบตาเดียวสุนัขจิ้งจอกก็ถูกช้างพลายเหยียบจนกะโหลกแตก ร่างกายแบนติดพื้นแถมยังถูกช้างถ่ายรดไว้บนตัวของสุนัขจิ้งจอกก่อนจากไป ราชสีห์เห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงกล่าวว่า

“คราวนี้เชิญเจ้าแผดเสียงไปเถิด มันสมองของเจ้าไหลออกแล้ว กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลายแล้ว ซี่โครงก็หักพังไปหมดแล้ว วันนี้เจ้าช่างรุ่งเรืองยิ่งนัก … “

สุนัขจิ้งจอกในตอนนั้นก็คือพระเทวทัต ส่วนพระยาราชสีห์ได้เสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้าในกาลนี้นั่นเอง …

จากเรื่องราวที่จบไปนั้นก็ทำให้เห็นแล้วว่า การไม่เจียมตนจนเกิดภัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาแบบอย่างยิ่ง ก่อนจะเลียนแบบใครควรตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาหัวให้ดีว่ายังอยู่ครบหรือเปล่า  เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน !!