(นายปิยทร  สนศิริ)

หลายคนที่คิดจะประกอบกิจการงานใดก็มักจะหาฤกษ์หายามที่ดี หากผิดฤกษ์ผิดเวลาก็ต้องรอไปอีกหลายวัน  บางคนรอฤกษ์แต่งงานเป็นปี แต่พอแต่งได้ไม่กี่ปีก็ต้องเลิกรากันไป เรื่องฤกษ์ยามได้กลายมาเป็นเรื่องที่บางคนขาดไม่ได้  ต้องรอฤกษ์ยามที่ดีจึงจะประกอบพิธีได้ แม้แต่พระภิกษุบางรูปหาฤกษ์ลาสิกขาไม่ได้ก็ต้องรอไปอีกหลายเดือน

อีกเรื่องหนึ่งคือการดูหมอ หากหมอดูบอกว่าดวงชะตาไม่ดีก็ต้องหาวิธีสะเดาะเคราะห์ต่ออายุปล่อยนกปล่อยปลาไปตามที่หมอดูแนะนำ  ปัจจุบันหมอดูแทบจะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทกำหนดวิถีชีวิตของคนบางคนไปโดยปริยาย

ปัจจุบันเราเองอาจเห็นได้จากเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว เช่น การส่งงานล้าช้าของนักศึกษาบางคน คอยพูดกับตัวเองว่าพรุ่งนี้ก่อนค่อยทำ วันอื่นว่างค่อยทำ การผัดวันประกันพรุ่ง หาวันที่เหมาะสมกับการทำงาน เหตุการณ์นี้ส่งผลทำให้งานล้าช้า เกิดนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ติดตัวนักศึกษาไปจนถึงอนาคต และสิ่งที่ตามมาอีกอย่างก็คือการได้คะแนนที่ไม่ดี จนทำให้ถอนกระบวนวิชา หรือได้ผลการเรียนที่น้อยนิด

อีกหนึ่งตัวอย่างของการหาฤกษ์ยามก็คือ การดูดวงกับหมอดูเพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการจัดงานพิธีต่างๆ อย่างแรกที่ส่งผลต่อเราคือการเสียทรัพย์สินไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างที่สองคือการที่ทำให้เรางมงาย จนมากเกินไป กังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อาจทำให้เป็นคนคิดมากจนทำให้เสียสุขภาพจิต จนเกิดโรคเครียดตามมา

การหาฤกษ์ยามจึงอาจมีความสำคัญกับคนหลายคน แต่ทว่าฤกษ์ยามในการทำสิ่งใดนั้น อาจไม่จำเป็นเลย สำหรับผู้มีปัญญา ดังที่พระพุทธองค์ท่านกล่าวสอนว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดาวดวงจักทำอะไรได้” แล้วท่านก็อธิบายให้ฟังว่า “คนโง่มัวแต่รอฤกษ์อยู่ว่า ฤกษ์จะมีในบัดนี้ จักมีในเวลานี้ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปด้วยการอคอย ประโยชน์ที่เขาความจะได้รับ ก็ได้ผ่านเลยไปเสีย ในช่วงเวลาที่เขารอคอยอยู่นั่นแหละ ดวงดาวในอากาศจักยังประโยชน์ให้สำเร็จได้อย่างไร การกระทำของตนต่างหากที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในสมัยพุทธกาล ซึ่งปรากฏอยู่ในนักขัตตชาดกความว่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้ว ถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ ผมจะกระทำงานมงคลสักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้ กลับถามเรา คิดต่อไปว่า ในวันนี้ เราจักทำการขัดขวางงานของคนเหล่านั้นเสีย แล้วกล่าวว่า วันนี้ ฤกษ์ไม่ดี ถ้ากระทำการมงคลจักพากันถึงความพินาศใหญ่ คนเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวก จึงไม่ไปรับเจ้าสาวชาวชนบททราบว่า พวกนั้นไม่มา ก็พูดกันว่า พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจักต้องคอยคนเหล่านั้น แล้วก็ยกธิดาให้แก่คนอื่น

รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมาขอรับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่า เป็นชาวเมือง แต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้ว แต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไปชาวเมืองกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่า ฤกษ์ไม่ดีจึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด ชาวชนบทแย้งว่า เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้ อย่างไรเล่า?

เมื่อคนเหล่านั้นโต้เถียงกันไป โต้เถียงกันมา อยู่อย่างนี้ ก็พอดี มีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกแล้ว จึงไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ก็พูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้ว มิใช่หรือ? ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ ความว่า “ ประโยชน์ผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้ ” ดังนี้  พวกชาวเมืองทะเลาะกับพวกนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เจ้าสาวอยู่นั่นเอง เลยพากันไป 

จากอรรถกถานักขัตตชาดกแสดงให้เห็นว่า

สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี มนุษย์จึงอยู่ที่การกระทำหากทำดีเวลาใดเวลานั้นก็เป็นฤกษ์ดีของเขา ส่วนคนที่มัวแต่รอฤกษ์งามยามดี หากกุลบุตรไม่เชื่อตามคำทำนายฤกษ์ของอาชีวก ไม่มัวแต่งมงาย ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป ธิดาที่กุลบุตรกำลังจะไปสู่ขอนั้นคงไม่ตกเป็นของคนอื่น และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มองเห็นว่าฤกษ์ยามเป็นสิ่งที่สำคัญจนทำให้เกิดผลเสียตามมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งงานล้าช้าของนักศึกษา เพราะมัวแต่รอวันคืนที่เหมาะสม เหมือนรอฤกษ์ยาม จนทำให้งานล่าช้าคือ การดูดวงกับหมอดูเพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการจัดงานพิธีต่างๆ จนทำให้เสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน และส่งผลเสียอีกหลายอย่างตามมา

ท่านกล่าวว่ารอโชคชะตามักจะเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ ถ้ามีความพร้อมเมื่อใดก็ลงมือทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอฤกษ์ยาม และถ้าเราคิดถึงเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง บางครั้งในขณะที่เรามัวรอฤกษ์งามยามดีอยู่นั่นแหละ เราก็อาจสิ้นชีวิตไปเสียก่อน โดยที่ยังมิได้ทำตามที่ตั้งใจเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำความดีแล้ว ไม่จะเป็นต้องรอฤกษ์รอยามเลย จงทำทันทีจะดีกว่า