ภาษาสันสกฤตกับ 19 เรื่องที่ควรรู้
1. ภาษาสันสกฤตมีอายุเก่าแก่มากกว่า 3,000 ปี
นี้น่าจะเป็นการกำหนดอายุที่น้อยที่สุดแล้ว เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว และภาษาสันสกฤตที่ใช้บันทึกพระเวทมีมาก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 500 ปีอย่างแน่นอน บางตำราว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่องสองพันปีก่อนคริสตกาล นั่นคือมีอายุราวสี่พันปี
2. วรรณคดีภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุดคือ ฤคเวท
ในสมัยโบราณไม่นิยมการเขียน คัมภีร์พระเวทสืบทอดโดยผ่านการท่องจำ และเรียนจากครูสู่ลูกศิษย์ สำนักของตัวเอง (เพราะฉะนั้นคัมภีร์จึงมีสาขาเฉพาะตามสำนักด้วย) ฤคเวทเป็นคัมภีร์รวมบทสวดสรรเสริญพระเจ้า ที่มีข้อกำหนดในการสวดโดยเฉพาะ
3. ภาษาสันสกฤตกับภาษาบาลี เป็นคนละภาษา
ภาษาสันสกฤตเก่ากว่าภาษาบาลีสักหน่อย ลักษณะคำศัพท์แตกต่างกัน แต่โครงสร้างทางไวยากรณ์คล้ายกัน โดยรวมๆ แล้ว ถือว่า ภาษาสันสกฤตมีความซับซ้อนกว่า และมีความแตกต่างกัน 3 ชั้น ตามอายุ ภาษาที่พระสวดในปัจจุบัน คือภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาสันสกฤต
4. ภาษาสันสกฤต มีอยู่ในภาษาไทยมากกว่า 2,000 คำ
ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีมีคำศัพท์ร่วมกันจำนวนหนึ่ง การแยกคำยืมภาษาบาลีออกจากภาษาสันสกฤตจึงไม่ง่ายนัก แต่โดยรวม จะมีคำศัพท์จำนวนหนึ่งที่มีใช้ทั้งในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต และสุดท้ายคือคำที่มีเฉพาะในภาษาบาลี สามกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ต่างกันมากนัก
5. ร่องรอยภาษาสันสกฤตปรากฏในแผ่นดินไทยมาหลายศตวรรษแล้ว
ภาษาสันสกฤตปรากฏในจารึกที่พบในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นๆ พุทธกาล เช่น จารึกบนเหรียญเงิน ราวพุทธศตวรรษที่ 12 พบที่นครปฐม, จารึกบนตราประทับที่ควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ หรือจารึกวัดศรีเมืองแอม จังหวัดของแก่น (มีเนื้อหาหลายบรรทัด) ก็เก่าแก่พอๆ กัน
6. ปัจจุบันมีการศึกษาภาษาสันสกฤตในประเทศไทยน้อยกว่าภาษาบาลีหลายเท่า
เพราะภาษาบาลีมีใช้ในพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยสงฆ์ และวัดต่างๆ จึงมีการเรียนการสอนภาษาบาลีกันทั่วประเทศ มีตำราภาษาบาลีเป็นพันๆ เรื่อง ส่วนภาษาสันสกฤตนั้น อาจมีไม่ถึงร้อยเรื่อง อุๆๆๆ แต่ต่างกันครับ ในต่างประเทศ มีการศึกษาภาษาสันสกฤตกันกว้างขวาง โดยเฉพาะเว็บไซต์ภาษาสันสกฤตมีเยอะมาก เรียกว่า นั่งเรียนอยู่กับบ้านก็มีวัตถุดิบมากพอ มากกว่าภาษาบาลีเป็นสิบๆ เท่า
7. วรรณคดีสันสกฤตที่รู้จักกันดีได้แก่…
หลายเรื่องที่รู้จักกันดี เช่น มหาภารตะ, รามายณะ, เวตาล, ศกุนตลา, ภควัทคีตา, หิโตปเทศ, ปัญจตันตระ ฯลฯ ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีลำนำ ที่แต่งขึ้นเพื่อพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของกวี เช่น เมฆทูต ฤตุสังหาร ของกวีกาลิทาส ยังมีวรรณกรรมเชิงวิชาการว่าด้วยความรู้แขนงต่างๆ เช่น คัมภีร์คชศาสตร์ กามสูตร โยคสูตร ตำราพีชคณิต เป็นต้น
8. กามนิต วาสิฏฐี ไม่ใช่วรรณคดีสันสกฤต
กามนิต หรือ Der Pilger Kamanita (นักแสวงบุญชื่อ กามนีต) ฉากในเรื่องนั้นเป็นอินเดีย แต่ผู้แต่งคือกวีรางวัลโนเบล ชาวเดนมาร์ก (Karl Adolph Gjellerup) แต่งเป็นภาษาเยอรมัน เมื่อผ่านสำนวนแปลเป็นไทยแบบกลิ่นอายคัมภีร์ศาสนา ทำให้คนอ่านเข้าใจว่าเป็นหนังสือแปลจากอินเดีย
9. คัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ใช้ภาษาสันสกฤตบันทึก
มีคัมภีร์พุทธศาสนาจำนวนมากที่บันทึกไว้เป็นภาษาสันสกฤต เช่น มหาวัสตุ พุทธจริต เสานทรนันทะ รัตนาวลี ชาตกมาลา ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นแนวคิดในฝ่ายมหายาน มีภิกษุมหายานได้แปลออกเป็นภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาทิเบต และภาษาจีน ซึ่งปัจจุบันมีหลายเรื่องที่ต้นฉบับภาษาสันสกฤตหายไปแล้ว เหลือแต่ฉบับภาษาจีน แต่ยังคงปรากฏชื่อภาษาสันสกฤตอยู่เท่านั้น
10. คำศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาทยังเป็นสันสกฤต
แม้ภาษาบาลีจะเป็นภาษาหลักในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท แต่ศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อยที่ใช้อยู่ในภาษาไทยก็เป็นศัพท์ที่ยืมจากภาษาสันสกฤต เช่น กรรม, เทศนา, ธรรมะ, พรรษา, พุทธบริษัท, ภิกษุ, รัตนตรัย, ศรัทธา, ศีล, ศาสนา, ศาสดา, สวรรค์ ฯลฯ
11. พจนานุกรมภาษาสันสกฤตเล่มแรก มีปรากฏขึ้นเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว
พจนานุกรมภาษาสันสกฤตเล่มแรก เรียกว่า นามลิงคานุศาสนัม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อมรโกศ เขียนโดยอมรสิงห์ เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4-7 แต่มีลักษณะเป็นหนังสือรวมคำศัพท์ แยกตามหมวดหมู่ ว่าในหมวดนี้มีคำใดบ้าง หรือคำที่มีความหมายกลุ่มนี้มีคำใดบ้าง ไม่ได้อธิบายความหมายคำศัพท์ตามตัวอักษรอย่างพจนานุกรมของตะวันตก
12. พจนานุกรมภาษาสันสกฤต-ไทยเล่มแรก มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อ พ.ศ. 2469 จัดทำโดย ร้อยโท หลวงบวรบรรณรักษ์ เป็นพจนานุกรม 3 ภาษา สันสกฤต ไทย อังกฤษ นับเป็นพจนานุกรมภาษาสันสกฤตเล่มเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ (ไม่นับ “ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต” ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนาถ ที่เป็นพจนานุกรม 4 ภาษา ที่เน้นภาษาบาลีแปลเป็นไทย อังกฤษ เทียบสันสกฤต กับ “พจนานุกรมพุทธศาสนา จีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย” (A dictionary of Buddhism Chinese-Sanskrit-English-Thai) ที่แม้จะมีภาษาสันสกฤต แต่เน้นคำศัพท์ภาษาจีนเป็นหลัก
13. ภาษาสันสกฤต มีพัฒนาการแตกต่างกัน 3 สมัยหลัก
สมัยแรกคือสมัยพระเวท มีลักษณะไวยากรณ์ที่หลากหลาย พบในวรรณคดีพระเวทสมัยแรกๆ มีหลายสำนักไวยากรณ์ สมัยต่อมาคือสมัยคลาสสิกหรือภาษาแบบแผน มีไวยากรณ์ที่เป็นระเบียบ รัดกุม พบในงานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรามายณะและมหาภารตะ และสมัยหลังคือ สันสกฤตผสม มีคำศัพท์และไวยากรณ์ร่วมของภาษาบาลีหรือภาษาปรากฤต มักพบในงานวรรณคดีพุทธศาสนา
14. ภาษาสันสกฤต มีศัพท์สอดคล้องภาษาอังกฤษหลายคำ
ภาษาสันสกฤต มีรากศัพท์จากสมัยโบราณ เรียกว่า โปรโต-อินโดยูโรเปียน (Proto Indo-European) ซึ่งแตกสาขาออกมามากมาย เช่น กรีก ละติน เปอร์เซีย ภาษาอังกฤษรับคำศัพท์มาจากกรีกและละติน ทำให้ภาษาอังกฤษมีศัพท์จำนวนมากสอดคล้องกับศัพท์ภาษาสันสกฤต ทีนี้ ภาษาไทยนำศัพท์ภาษาสันสกฤตมาใช้ ทำให้ศัพท์ภาษาไทยหลายคำตรงกับศัพท์อังกฤษไปโดยอัตโนมัติ เช่น นาวี นาวิก นาวา navy navigation, พันธ พันธนาการ bond band
15. ภาษาสันสกฤตใช้ตัวอักษรใดเขียนก็ได้
ภาษาสันสกฤตมีเสียงพยัญชนะ และเสียงสระ (ไม่มีวรรณยุกต์) ในสมัยพระเวทมีเสียงสูงกลางต่ำด้วย เรามักเห็นเอกสารภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครี (เท-วะ-นา-คะ-รี) แต่อาจใช้อักษรอื่นเขียนก็ได้ เช่น อักษรทมิฬ โรมัน หรืออักษรไทย
16. ปัจจุบันชาวไทยมากกว่าครึ่ง ใช้ชื่อเป็นภาษาสันสกฤตล้วน หรือผสมภาษาสันสกฤต
คนไทยเห็นว่า ศัพท์ภาษาสันสกฤตหลายคำมีความหมายที่ดี เป็นมงคล และกระชับ (คำสั้น แต่ความหมายเยอะ) จึงนิยมใช้สร้างศัพท์สำคัญๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะพระนามบุคคลสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระพุทธรูป ราชทินนามของขุนนาง หน่วยงาน ภายหลังใช้ตั้งชื่อ นามสกุล พบได้โดยทั่วไป
17. การลำดับคำศัพท์ในภาษาสันสกฤตเป็นแบบจิ๊กซอว์
คำศัพท์ในภาษาสันสกฤตนั้น เมื่อนำมาใช้ จะมีการกำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจน ว่าตัวใดเป็นประธาน กริยา กรรม ฯลฯ จึงสามารถวางตรงไหนก็ได้ในประโยค ผู้อ่านต้องหาเอาเอง ว่าประธาน กริยา กรรม และคำขยายอยู่ตรงไหน (สนุกสนานมากกกกกกก) แต่โดยทั่วไปนิยมใช้ ประธาน กรรม กริยา และคำขยายไว้หน้าคำที่ถูกขยาย เช่น คเณศมฺ อหมฺ นมามิ (ข้าพเจ้าไหว้พระคเณศ)ฯ อาจเขียนว่า อหมฺ คเณศมฺ นมามิฯ หรือ นมามิ คเณศมฺ อหมฺฯ ก็มีความหมายเดียวกัน
18. ปัจจุบันไม่มีการใช้ภาษาสันสกฤตในชีวิตประจำวันโดยธรรมชาติ
แม้ไม่มีการใช้ภาษาสันสกฤตโดยธรรมชาติ แต่มีการใช้ในหมู่นักวิชาการบ้าง เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ บล็อก มหาวิทยาลัยบางแห่งในอินเดีย บังคับให้ให้นักศึกษาวิชาเอกสันสกฤต ต้องสื่อสารเป็นภาษาสันสกฤต (ป้าย, เอกสาร, จดหมาย, สนทนา) และเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาสันสกฤต อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในอินเดีย มีการส่งเสริมให้ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาถิ่นในหมู่บ้านเล็กๆ ราว 7 หมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านมัตตูร ในรัฐกรรณาฏกะ และหมู่บ้านฌิรี ในรัฐมัธยประเทศ
19. มีการจัดสัมมนาวิชาการด้านภาษาสันสกฤตระดับโลก ประจำทุก 3 ปี
เรียกว่า World Sanskrit Conference (WSC) แต่ละประเทศทั่วโลกผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น อิตาลี ออสเตรีเลีย ฯลฯ ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยเราเป็นครั้งแรก เป็นการประชุมสันสกฤตโลกครั้งที่ 16 มีผู้สนใจจากหลายสิบประเทศทั่วโลกมาร่วมประชุมและนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีสันสกฤต ผู้เขียนและสมาชิกของกลุ่มภาษาและวรรณคดีสันสกฤตหลายคนก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานในครั้งนี้ ครั้งถัดไปนี้การประชุมครั้งที่ 17 จัดที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคม 2561