นามศัพท์

นามศัพท์ ในบาลีไวยากรณ์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ นามนาม คุณนาม และสรรพนาม

1. นามนาม หมายถึง คำที่ใช้เรียกชื่อคน, สัตว์, สถานที่, สิ่งของ, สภาวะต่างๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

• สาธารณนาม หมายถึง ชื่อที่ใช้เรียกได้ทั่วไป ไม่จำเพาะเจาะจง สำหรับเรียกคน, สัตว์, สถานที่, สภาวะต่างๆ เช่น มนุสฺโส มนุษย์ ใช้เรียกมนุษย์ได้โดยทั่วไป,  ติรจฺฉาโน สัตว์ดิรัจฉาน,  นครํ เมือง,  สนฺติ ความสงบ เป็นต้น

• อสาธารณนาม หมายถึง ชื่อที่ใช้เรียกเฉพาะเจาะจง ไม่ทั่วไป  เช่น ทีฆาวุ กุมารชื่อทีฆาวุ ใช้เรียกเฉพาะกุมารที่ชื่อว่า ทีฆาวุ,  เอราวโณ ใช้เรียกชื่อช้างเอราวัณ,  สาวตฺถี ชื่อเมืองสาวัตถี เป็นต้น

 2. คุณนาม หมายถึง คำแสดงลักษณะของนามนาม (รวมทั้งปุริสสรรพนาม) ให้รู้ว่าดีหรือชั่ว สูงหรือต่ำ ดำหรือขาว ผอมหรืออ้วน เป็นต้น  แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ

• คุณนามชั้นปกติ แสดงลักษณะของนามนามอย่างปกติ ไม่เปรียบเทียบกับอะไร เช่น ดี, ชั่ว, สูง, ผอม เป็นต้น

• คุณนามชั้นวิเสส แสดงลักษณะของนามนาม อย่างพิเศษกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับ  สิ่งอื่นๆ มักมี “ตร” “อิย” “อิยิสฺสก” เป็นปัจจัยต่อท้ายคุณนามชั้นปกติ แปลว่า “กว่า” เช่น ดีกว่า, ชั่วกว่า, สูงกว่า เป็นต้น และใช้ “อติ” เป็นอุปสัคนำหน้าคุณนามชั้นปกติเพื่อบอกความหมายแปลว่า “ยิ่ง” เช่น ดียิ่ง, สูงยิ่ง, อ้วนยิ่ง เป็นต้น

• คุณนามชั้นอติวิเสส แสดงลักษณะของนามนาม อย่างพิเศษมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ มักใช้ “ตม” “อิฏฺฐ” เป็นปัจจัย แปลว่า “ที่สุด” เพื่อต่อท้ายคุณนามชั้นปกติ เช่น ดีที่สุด, ชั่วที่สุด, สูงที่สุด เป็นต้น และใช้ “อติวิย” เป็นอุปสัคกับนิบาตนำหน้าคุณนามชั้นปกติ แปลว่า “เกินเปรียบ” เช่น ผอมเกินเปรียบ, อ้วนเกินเปรียบ เป็นต้น

3. สรรพนาม หมายถึง คำที่ใช้เรียกนามนามที่กล่าวถึงแล้ว เพื่อไม่ให้ซ้ำซากซึ่งไม่เพราะหู ช่วยให้เนื้อความกระชับไพเราะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

• ปุริสสรรพนาม ใช้แทนชื่อคน สัตว์ สถานที่ สิ่งของ ที่กล่าวถึงแล้ว

• วิเสสนสรรพนาม ใช้บอกให้รู้ว่านามนั้นอยู่ใกล้หรือไกล แน่นอนหรือไม่แน่นอน

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นดูภาพประกอบด้วยจ้ะ

 

นามศัพท์ ทั้ง 3 ชนิดนี้ เมื่อจะนำไปใช้ในประโยค จะประกอบด้วย ลิงค์ วิภัตติ และวจนะ

แต่ก่อนจะไปเรื่องการแจกวิภัตติ มีคำศัพท์ที่ควรจะรู้ก่อน เพื่อง่ายต่อการแจกวิภัตติครับ ดูภาพประกอบเลยนะ

มาดูกันเลยว่าแต่ละอย่างหมายถึงอะไร

1. ลิงค์ แปลว่า เพศ หมายถึงเพศของคำนามแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

• ปุงลิงค์ เพศชาย

• อิตถีลิงค์ เพศหญิง

• นปุงสกลิงค์ เพศกลางๆ ไม่ใช่ทั้งเพศชาย ไม่ใช่ทั้งเพศหญิง

นอกจากนี้ลิงค์ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

• ลิงค์โดยกำเนิด ได้แก่ ศัพท์ที่มีคำแปลและความหมายที่บ่งบอกเพศชัดเจน เช่น ปุริส (บุรุษ) เป็นปุงลิงค์ กญฺญา (หญิงสาว) เป็นอิตถีลิงค์  เป็นต้น

• ลิงค์โดยสมมุติ ได้แก่ ศัพท์ที่มีเพศชัดเจนแต่ไม่จัดเป็นลิงค์นั้น เช่น ทาร (เมีย) จัดเป็นปุงลิงค์ ทั้งๆ ที่ตามเพศแล้วควรเป็นอิตถีลิงค์

2. การันต์ หมายถึงสระที่อยู่ท้ายของคำนามแต่ละคำ เช่น ปุริส ลงท้ายด้วยสระอะ เรียกว่า  การันต์  กญฺญา ลงท้ายด้วยสระอา เรียกว่า อา การันต์ เป็นต้น ภาษาบาลีมี 13 การันต์ แบ่งการันต์ตามลิงค์ทั้ง 3 ดังนี้

• ปุงลิงค์ มี 5 การันต์  คือ  อ  อิ  อี  อุ  อู

• อิตถีลิงค์ มี 5 การันต์  คือ  อา  อิ  อี  อุ  อู

• นปุงสกลิงค์  มี 3 การันต์   คือ  อ  อิ  อุ

3. วจนะ หรือ พจน์ หมายถึง คำที่บ่งบอกหรือแสดงจำนวนของคำนาม ภาษาบาลีแบ่งออกเป็น 2 วจนะ คือ

• เอกวจนะ หมายถึง จำนวนเดียว หรือสิ่งเดียว

• พหุวจนะ หมายถึง จำนวนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป

4. วิภัตตินาม ได้แก่ คำที่นำมาแจกหรือประกอบกับคำนามนาม คุณนาม และสรรพนาม เพื่อให้คำนั้นๆ มีรูปแตกต่างออกไป เมื่อนำไปใช้ในประโยคทำหน้าที่คล้ายกับคำบุรพบทในภาษาไทย แต่วิภัตตินามเมื่อนำไปประกอบแล้วจะติดกับคำนามนั้นๆ ไม่แยกออก เช่น ภาษาไทยว่า “ในหมู่บ้าน” ภาษาบาลีจะเขียนเป็น “คามสฺมึ” มาจาก คาม + สฺมึ คาม เป็นคำนาม สฺมึ เป็นวิภัตตินาม เป็นต้น วิภัตติในภาษาบาลีมีทั้งหมด 14 ตัว แบ่งเป็น 8 วิภัตติ ดังปรากฎในภาพข้างบนนั่นเอง  รูปวิภัตติทั้ง 14 ตัวนี้ เมื่อนำไปประกอบกับคำนาม จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูป มีคำแปลและมีหน้าที่แตกต่างกัน

5. อายตนิบาต คือคำแปลประจำวิภัตติทั้ง 8 ดังแสดงในภาพข้างบนนั่นแหละจ้ะ

เมื่อรู้จักคำศัพท์ต่างแล้ว ก็พร้อมที่จะแจกวิภัตติกันจริงๆ ซะที คราวหน้าเริ่มเลย!!!