“เรื่องที่ขอฉันพอเข้าใจ แต่ใช่ว่าขอแล้วให้กันได้”
(โดย นางสาวเทพากร สิทธิโคตร)

เรื่องของการขอ คนเราทั่วไปย่อมเคยผ่านการขออยู่แล้วทุกคน ขอเรื่องเล็กบ้างใหญ่บ้างตามเหตุปัจจัย แต่บางเรื่องที่มันมากไป ก็ไม่ควรขอ

มณิกัณฐชาดก กล่าวถึงเรื่องการขอไว้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้โดยพลัน…

เรื่องมีอยู่ว่า…

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่อัคคาฬวเจดีย์เมืองอาฬวี ได้กล่าวถึงเรื่องที่ภิกษุชาวเมืองอาฬวีขอให้ชาวบ้านสร้างกุฏิถวาย ทำให้ชาวเมืองอาฬวีเดือดร้อน เห็นพระภิกษุที่ไหนก็หลบหน้ากันไปหมด เมื่อพระมหากัสสปะได้ธุดงค์ไปเมืองอาฬวีและเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านเห็นก็พากันกลัว เกรงว่าจะมาขอเหมือนภิกษุรูปอื่นๆ

เมื่อพระมหากัสสปะกลับจากบิณฑบาตร หลังภัตตาคารก็ได้เรียกภิกษุมาถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อได้รู้ความนั้นแล้วจึงไปหาพระพุทธเจ้าที่อัคคาฬวเจดีย์และเล่าเรื่องนั้นให้ทราบ พระพุทธเจ้าจึงได้สั่งให้ประชุมและสอบถามภิกษุชาวเมืองอาฬวี หลังจากนั้นพระองค์จึงตักเตือนพวกภิกษุว่า “ขึ้นชื่อว่าการขอนั้นย่อมไม่มีใครชอบ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่นาคที่อยู่ในนาคพิภพก็ยังไม่ชอบ” เมื่อตักเตือนเสร็จแล้วพระพุทธองค์ก็ได้ยกชาดกเรื่องหนึ่งขึ้นเล่าดังนี้ว่า…

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ในตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมาก มีน้องชาย 1 คนที่รักกันมาก ต่อมา เมื่อมารดาบิดาเสียชีวิต ทั้ง 2 พี่น้องจึงพากันสละทรัพย์สมบัติและออกบวชเป็นฤาษีอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ผู้เป็นพี่นั้นอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำคงคา ส่วนผู้เป็นน้องนั้นอยู่ทิศใต้

อยู่มาวันหนึ่ง พญานาคชื่อมณิกัณฐะ แปลงกายเป็นชายหนุ่มเที่ยวเล่นไปตามฝั่งแม่น้ำคงคา เมื่อเจออาศรมของฤาษีผู้น้องจึงแวะเข้าไปคุยด้วย คุยกันอยู่พักหนึ่งก็เกิดความสนิทสนมกัน มณิกัณฐะมาหาฤาษีผู้น้องอยู่เป็นประจำ เมื่อสนิทกันมากขึ้นจึงได้บอกความจริงว่าตนนั้นเป็นพญานาคจำแลงมา

ทุกครั้งเมื่อนาคตนนี้จะกลับก็ได้ทำการขดหางตวัดรัดรอบตัวฤาษีและแผ่พังพานไว้เหนือหัวของฤาษีนั้น แต่ฤาษีเองกลับเกิดความกลัวนาคตนนี้ทุกครั้งที่ถูกรัดตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ จนร่างกายนั้นผ่ายผอมลง วันหนึ่งจึงตัดสินใจไปหาพี่ชายและปรึกษาเรื่องที่ตนทุกข์ใจ เมื่อน้องบอกกับผู้เป็นพี่ถึงเรื่องที่ไม่ต้องการให้พญานาคนั้นมาหาอีก ผู้เป็นพี่จึงช่วยคิดหาทางโดยออกอุบายให้น้องขอของที่พญานาคนั้นหวงแหนซึ่งของที่มีติดตัวมากับพญานาคทุกครั้งนั่นคือแก้วมณีดวงหนึ่ง เมื่อพญานาคตนั้นมาถึงยังไม่ทันได้ทำอะไร ก็ให้ฤาษีผู้น้องนั้นเอ่ยปากขอแก้วมณีนั้นเลย ให้ทำอย่างนี้อยู่ 3 วัน ฤาษีผู้น้องได้ทำตามคำแนะนำของผู้เป็นพี่ ร้องขอแก้วมณีนั้นของพญานาคจนวันที่ 3 โดยไปยืนรอที่ฝั่งของแม่น้ำคงคา เมื่อพญานาคมาถึงและถูกขอแก้วมณีอีกจึงพูดว่า

“แก้วมณีนี้ทำให้ข้าวและน้ำอุดมสมบูรณ์ ข้าคงให้แก้วมณนี้กับท่านไม่ได้ แต่ท่านนั้นกลับขอข้ามากขึ้น งั้นต่อไปนี้ข้าก็จะไม่มาหาท่านอีกแล้ว”

เมื่อพูดจบนาคนั้นก็กลับไปยังนาคพิภพและไม่กลับมาหาฤษีผู้น้องนี้อีก ทำให้ฤาษีนั้นกลับมากินได้และนอนหลับดังเดิม แต่ไม่นานนักฤาษีนั้นก็กลับคิดถึงพญานาคตนนั้น จนซูบผอมลงมากกว่าเดิม หลายวันต่อมาฤาษีผู้เป็นพี่อยากทราบเรื่อง จึงมาหาที่อาศรมเมื่อพบว่าผู้น้องนั้นซูบผอมลงไป จึงถามหาสาเหตุ เมื่อรู้ถึงสาเหตุก็ได้ตอบกลับน้องชายว่า

“เราไม่ควรขอในสิ่งอันเป็นที่รักของคนอื่น เพราะการขอมากไปนั้นย่อมนำมาซึ่งความเกลียดชัง”

เมื่อพี่ชายพูดจบก็ได้พูดปลอบใจให้น้องชายนั้นเลิกเศร้าโศกแล้วจึงกลับไปยังอาศรมของตน ฤาษีสองพี่น้องนั้นได้บำเพ็ญเพียรต่อไป จนในที่สุดก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เล่าชาดกเรื่องดังกล่าวนั้นจบก็ได้สรุปให้ฟังว่าดาบสผู้น้องคือพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนดาบสผู้พี่คือเราตถาคตนี้เอง เรื่องชาดกก็จบลงแต่เพียงเท่านี้

กลับมามองที่ตัวเราบ้าง

รู้อย่างนี้แล้ว จะขออะไรใครก็คิดหน้าคิดหลังให้ดีเสียก่อนล่ะ

เพราะไม่มีใครชอบคนที่ขอมากไปแน่ๆ