จุดหมายปลายทางของบ่างช่างยุ

(โดย นายธนกฤต เกษมาลา)

ชีวิตคนเรานั้นล้วนแต่มีกรรมกันทุกคน ใครประพฤติกรรมดี กุศลผลบุญก็ติดตัวไปในภพหน้า แต่ใครประพฤติก่อกรรมทำชั่ว วิบากกรรมที่ตนประพฤติปฏิบัติก็จะส่งผลเช่นกัน แต่อาจจะเป็นผลที่ไม่ดีสักเท่าไรนัก เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับคำกล่าวเมื่อเราทำกรรมชั่วว่า “ตายไประวังเป็นเปรตในนรก”

คำกล่าวนี้ชวนขนหัวลุกเป็นที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย แต่ถึงกระนั้นคนเราส่วนใหญ่ก็ยังก่อกรรมทำชั่วอยู่ เรื่องราวในธรรมบทที่ผู้เขียนบทความจะนำมาเล่าต่อไปนี้ นำมาจากธรรมบท ภาคที่ 7 เรื่องสูกรเปรต เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเปรตที่มีหัวเป็นหมู เปรตตนนี้ก่อกรรมทำชั่วอย่างไรก่อนที่จะเกิดเป็นเปรต ไปฟังเรื่องราวกันได้เลย…

มีเรื่องแปลกเกิดขึ้นในวันหนึ่งระหว่างทางที่พระโมคคัลลานะกำลังลงจากเขาคิชฌกูฏกับพระลักขณา อยู่ๆพระโมคคัลลานะก็ส่งสัญญาณบางอย่าง พระลักขณาถามว่า “มีอะไรรึท่าน?” พระโมคคัลลานะตอบว่า “พระลักขณา ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถามนี้ได้ ท่านควรถามผมในสำนักของพระพุทธเจ้า”

เมื่อท่านทั้งสองบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว จึงกลับไปวัดเวฬุวัน กราบพระพุทธเจ้าแล้วนั่งลงพระลักขณาจึงถามคำถามก่อนหน้ากับพระโมคคัลลานะอีกครั้ง และได้คำตอบว่า“ผมได้เห็นเปรตตนหนึ่ง มีร่างสูงถึง 6,000 วา  ส่วนที่เป็นร่างกายก็เหมือนมนุษย์แต่มีศีรษะเหมือนหัวของหมู มีหางอยู่ที่ปาก และมีหนอนมากมายไหลออกจากปาก ผมคิดว่าเราไม่เคยเห็นสัตว์ที่มีรูปร่างอย่างนี้ เมื่อเห็นเปรตแล้ว จึงได้ยิ้มออกมา”

พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ในพวกเรามีผู้ที่มีตาเห็นธรรมอยู่ เราเองก็ได้เห็นสัตว์นั้นที่ใต้ต้นโพธิ์เหมือนกันแต่เราไม่พูด เพราะหากพูดความจริงแล้ว ก็จะมีคนที่ไม่เชื่อ ความไม่เชื่อนั้นไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ กับพวกเขา ตอนนี้เราได้โมคคัลลานะเป็นพยาน โมคคัลลานะพูดความจริง” เมื่อพระภิกษุทั้งหลายฟังเรื่องนี้แล้ว ก็ถามว่าเปรตตนนั้นก่อกรรมอะไรมา

 

(ภาพเปตรหัวหมู ภายในเมืองสวรรค์แดนนรก วัดแสนสุข จังหวัดชลบุรี ถ่ายโดยผู้เขียนบทความ)

พระพุทธเจ้าจึงเล่าเรื่องเปรตตนนั้นเมื่อครั้งยังมีชีวิตว่า

ในสมัยพระพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มีพระ 2  รูปอาศัยอยู่ที่วัดใกล้หมู่บ้านตำบลหนึ่งในพระ 2 รูปนั้น รูปหนึ่งมีพรรษา 60 อีกรูปมีพรรษา 59 รูปที่มีพรรษาน้อยกว่าจะคอยถือบาตรและจีวรของพระอีกรูป และปฏิบัติทุกอย่างเหมือนสามเณร พระทั้งสองรูปไปไหนด้วยกันเสมอเหมือนเป็นพี่น้องแท้ๆ

ในวันธัมมัสสวนะได้มีพระบรรยายธรรมรูปหนึ่งเดินทางมายังวัด พระทั้งสองจึงให้ที่พักแก่พระบรรยายธรรมแล้วขอให้พระรูปนั้นเทศน์ให้ฟัง เมื่อเทศน์จบ พระทั้งสองก็รู้สึกยินดีที่ได้พระนักเทศน์มาจำวัดอยู่ด้วย วันรุ่งขึ้น พระทั้งสองก็พาพระนักเทศน์เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านใกล้เคียงและขอให้ท่านเทศน์ต่อจากที่พักไว้เมื่อวานแก่ผู้คน เมื่อผู้คนได้ฟังเทศน์แล้ว ก็นิมนต์อีกในวันรุ่งขึ้น

พระพี่น้องทั้งสองพาพระรูปนั้นไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน บ้านละสองวัน พระนักเทศน์คิดว่า ควรทำให้พระสองรูปนี้ออกไปจากวัด แล้วตนจะได้อยู่ที่วัดแต่เพียงผู้เดียว เมื่อคิดได้เช่นนั้น ในตอนเย็นท่านจึงไปที่กุฏิของพระผู้พี่แล้วบอกว่ามีเรื่องบางอย่างที่ควรต้องพูด เมื่อพระผู้พี่ถาม พระนักเทศน์ก็ทำท่าคิดแล้วพูดว่า การพูดนั้นอาจจะทำให้เกิดผลเสีย จึงไม่พูดอะไร แล้วก็ออกไป

จากนั้นก็ไปที่กุฏิของพระผู้น้องแล้วทำอย่างเดียวกัน ทำเช่นนี้อยู่ 2 วัน ในวันที่ 3  เมื่อเห็นว่าเกิดความเรรวนในจิตใจของพระทั้งสองแล้ว จึงเข้าไปหาพระผู้พี่แล้วพูดว่ามีบางอย่างที่ควรจะพูด แต่ไม่สามารถพูดในสำนักของท่านได้ พระผู้พี่จึงรบเร้าให้ท่านพูด  ท่านจึงกล่าวว่า ทำไมพระผู้น้องจึงไม่ถูกกับท่าน พระผู้พี่จึงว่า ท่านพูดอะไร ผมทั้งสองเป็นเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน หากรูปหนึ่งได้สิ่งของอะไร อีกรูปก็จะได้เหมือนกันความผิดของพระผู้น้อง ผมก็ไม่เคยเห็นว่ามีมาก่อน  พระนักเทศน์ถามย้ำ พระผู้พี่ก็ยังยืนยัน

พระนักเทศน์จึงพูดต่ออีกว่า “พระผู้น้องพูดกับผมตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึงว่าผมเป็นพระที่มีศีล ลองคิดให้ดีๆ ดูก่อนที่จะคบหากับท่าน” เมื่อได้ยินดังนั้น พระผู้พี่ก็โกรธมาก จากนั้นพระนักเทศน์ก็ไปที่กฏิของพระผู้น้อง แล้วได้พูดเหมือนกัน พระผู้น้องก็รู้สึกอย่างเดียวกัน

พระทั้งสองรูปนั้น ไม่เคยแยกกันบิณฑบาตสักครั้ง  แต่ในวันรุ่งขึ้น พระเถระทั้งสองได้แยกกันไปบิณฑบาต พระผู้น้องมาถึงก่อนแล้ว  พระผู้พี่มาถึงทีหลัง พระผู้น้องเห็นพระผู้พี่แล้วก็คิดว่า เราไม่ควรถือบาตรและจีวรของท่าน แต่ก็ยังทำจิตให้สงบว่าเราอยู่ในธรรมนานแล้ว จะโกรธจนไม่ทำตามกิจวัตรนั้นไม่สมควร จึงถามพระผู้พี่ให้ส่งบาตรและจีวร แต่พระผู้พี่กลับชี้นิ้วตวาดไล่ว่า “คนหัวดื้อ ท่านไม่ควรจะรับบาตรและจีวรของผม”

พระผู้น้องจึงตอบว่า “ใช่ ตนไม่ควรจะรับบาตรและจีวรของท่าน” พระผู้พี่ก็กล่าวว่า “ทำไมท่านจึงคิดว่า เรามีความเกี่ยวข้องกันในวัดแห่งนี้” พระผู้น้องก็ถามกลับเช่นเดียวกันแล้วพูดว่า ใช่สินี่เป็นวัดของท่าน จากนั้นทั้งสองรูปก็ถือบาตรและจีวรแยกกันออกไป ไม่ไปทางเดียวกัน รูปหนึ่งออกทางประตูหลัง อีกรูปหนึ่งออกทางประตูหน้า พระนักเทศน์ก็แสร้งพูดกับทั้งสองว่า “อย่าทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนี้” พระทั้งสองก็กล่าวว่า “หยุดเถอะ” แล้วก็ออกไป

ในวันรุ่งขึ้น พระนักเทศน์ก็ไปยังบ้านใกล้เคียง ผู้คนก็ถามถึงพระทั้งสอง และได้ตอบผู้คนไปว่า “อย่าถามเลย เมื่อวานนี้เขาได้ทะเลาะกันจนออกไปจากวัดแล้ว ผมขอร้องให้อยู่ก็ไม่สามารถทำได้” ผู้คนเหล่านั้น คนที่โง่เขลาก็นิ่งฟัง ส่วนคนที่ฉลาดก็คิดว่า  พระทั้งสองนั้นไม่เคยทำสิ่งใดผิดพลาดมาก่อน เหตุที่เกิดขึ้นนี้คงเป็นเพราะพระนักเทศน์แน่นอน  ในขณะเดียวกัน เมื่อพระทั้งสองออกจากวัดไปแล้วก็คิดว่า อีกฝ่ายนั้นก่อกรรมหนักที่ได้พูดกับพระนักเทศน์ว่า อย่าคบหากับตน

100 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก พระทั้งสองนั้นได้ไปเจอกันในวัดป่าแห่งหนึ่ง พระผู้พี่เข้าไปนั่งบนเตียงแล้วพระผู้น้องก็ได้เข้าไป พอเห็นกันก็จำได้  จนร้องไห้ออกมา  พระผู้น้องคิดว่าจะถามดีหรือไม่ แล้วก็ตัดสินใจพูดออกไปว่า “ตนได้คอยถือบาตรและจีวรให้มาตลอด มีกิริยามารยาทใดหรือไม่ที่ไม่สมควร” พระผู้พี่ก็ตอบว่า “ไม่มี”  พระผู้น้องจึงถามว่า “แล้วทำไมท่านจึงได้พูดกับพระนักเทศน์ว่าอย่าคบหากับผม” พระผู้พี่จึงตอบว่า ตนไม่เคยพูดอย่างนั้น ท่านต่างหากที่พูด พระผู้น้องจึงปฏิเสธ ในตอนนั้นเอง ทั้งสองจึงได้ทราบว่าถูกพระนักเทศน์ทำลายความสัมพันธ์จนไม่ถูกกัน รวมถึงไม่เคยสบายใจเลยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองจึงเดินทางกลับไปยังวัดเดิม  เมื่อพระนักเทศน์เห็นพระทั้งสองแล้ว ก็จะเข้าไปเพื่อรับบาตรและจีวร แต่พระเถระทั้งสองชี้นิ้วพูดว่า “ท่านไม่ควรอยู่ในวัดนี้อีกต่อไป” พระนักเทศน์จึงหนีไป เวลาผ่านไป 20,000 ปี พระนักเทศน์ก็มรณภาพ ตกนรกตามกรรมที่ก่อไว้ แล้วไปเกิดเปรตหัวหมูอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อเล่าจบ พระพุทธเจ้าได้ให้ข้อคิดว่า ผู้ที่สำรวมกาย วาจาและใจแล้วนั้น ไม่ควรทำบาปด้วยกาย หากมีที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รักษาไว้ไม่ได้ สุดท้ายก็จะไม่รักษาไว้ได้สักสิ่ง จึงควรรักษาสามสิ่งนี้อยู่เสมอ

เรื่องราวในธรรมบทก็จบเพียงเท่านี้

จากเรื่องราวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทะเลาะกันนั้น เป็นการก่อกรรมทำเข็ญที่ส่งผลให้เมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดเป็นเปตรที่มีหัวเป็นหมูเช่นเดียวกับพระนักเทศน์ กรณีนี้ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราควรตระหนักใคร่ครวญว่า แม้แต่ผู้เป็นพระภิกษุเมื่อสิ้นชีวิตไปยังไปเกิดเป็นเปรต แล้วคนธรรมดาอย่างเราล่ะ หันมาทำความดี สำรวมกาย วาจา และใจ ประพฤติตนอยู่ในคุณงามความดีตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนไว้กันแล้วหรือยัง ถ้ายังก็จงรีบเร่งสะสมบุญกันได้แล้ว ก่อนที่อะไรๆ จะสายไป ความดีที่ยิ่งใหญ่ที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ จากธรรมบทเรื่องนี้ก็คืออย่าไปยุยงให้คนอื่นเขาทะเลาะกัน ถ้าขืนทำ ระวัง ! จะได้ไปเกิดเป็นเปรตหัวหมู

น่ากลัวนะ…จะบอกให้