ฐานกรณ์

เนื้อหาส่วนนี้จะมี 2 คำที่ต้องทำความเข้าใจคือคำว่าฐาน และกรณ์

ฐานกรณ์ คือ คำใช้เรียกอวัยวะต่างๆ ในช่องปากที่ใช้ในการออกเสียง โดยแยกตามลักษณะการทำงานในการออกเสียงได้  2 ประเภท คือ ฐาน และ กรณ์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ฐาน หมายถึง อวัยวะที่ไม่เคลื่อนไหวในขณะเปล่งเสียง อวัยวะเหล่านี้อยู่ทางด้านบนของช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปากบน ฟันบน ปุ่มเหงือก เพดานแข็ง เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอ
  • กรณ์ คือ อวัยวะที่เคลื่อนไหวไปประชิดฐานเมื่อเปล่งเสียง อวัยวะเหล่านี้อยู่ทางด้านล่างของช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปากล่าง ฟันล่าง และลิ้น

ดูตารางประกอบเลยจ้ะ

เพิ่มเติมเรื่องฐาน

อักษรหรืออักขระ ทั้ง 41 ตัว มีสระและพยัญชนะ 38 ตัว ที่มีฐานที่เกิดเป็นหลักประจำเพียงฐานเดียวอยู่ทั้งสิ้น 6 ฐาน ดังนี้

  1. ฐานเกิดที่ลำคอเรียก กัณฐชะ ได้แก่ อ อา กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ หฺ
  2. ฐานเกิดที่เพดานเรียก ตาลุชะ ได้แก่ อิ อี จฺ ฉฺ ชฺ ฌฺ ยฺ
  3. ฐานเกิดที่ปุ่มเหงือกเรียก มุทธชะ ได้แก่ ฏฺ ฐฺ ฑฺ ฒฺ ณฺ รฺ ฬฺ
  4. ฐานเกิดที่ฟัน เรียก ทันตชะ ได้แก่ ตฺ ถฺ ทฺ ธฺ นฺ ลฺ สฺ
  5. ฐานเกิดที่ริมฝีปาก เรียก โอฏฐชะ ได้แก่ อุ อู ปฺ ผฺ พฺ ภฺ มฺ
  6. ฐานเกิดที่จมูก เรียก นาสิกชะ ได้แก่ อํ (นิคหิต)

อักขระที่เหลือ อีก 3 ตัว ไม่ได้เกิดจากฐานเดียว แต่เกิดจาก 2 ฐาน ได้แก่

  1. เกิดจากฐานลำคอและฐานเพดาน เรียก กัณฐตาลุชะ ได้แก่ เอ
  2. เกิดจากฐานลำคอและฐานริมฝีปาก เรียก กัณฐโอฏฐชะ ได้แก่ โอ
  3. เกิดจากฐานฟันและฐานริมฝีปาก เรียก ทันตโอฏฐชะ ได้แก่ วฺ

เพิ่มเติมเรื่องกรณ์

ภาษาบาลีแบ่งกรณ์ ได้ 4 อย่าง ดังนี้

  1. ชิวหามัชฌะ กลางลิ้น คือกรณ์ที่กระทบกับ ตาลุชะ (เพดาน) ทำให้เกิดเสียง
  2. ชิวโหปัคคะ ถัดปลายลิ้นเข้ามา คือกรณ์ที่กระทบกับ มุทธชะ (ปุ่มเหงือก) ทำให้เกิดเสียง
  3. ชิวหัคคะ ปลายลิ้น คือกรณ์ที่กระทบกับ ทันตชะ (ฟัน) ทำให้เกิดเสียง
  4. สกัฏฐานะ ฐานของตนเอง เป็นกรณ์ของอักษรที่เหลือคือนอกจากลิ้นแล้วก็เอาฐานเกิดของอักษรนั้นๆ เป็นกรณ์ เช่น กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ เกิดจากคอ ก็เอาคอเป็นทั้งฐานและกรณ์ เป็นต้น

ลองฝึกออกเสียงดูนะครับจะช่วยให้เราจำฐานที่เกิดได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ความจำมาก จำไว้ง่ายๆ ว่าฐานคือที่เกิดเสียง ส่วนกรณ์คือลิ้นที่ไปกระทบนั่นเอง

นอกจากฐานกรณ์แล้ว ยังมีประเภทของเสียงที่เปล่งออกมาด้วย เมื่อเสียงออกมาแล้วเป็นเสียงหนักเบา ก้องหรือไม่ก้อง เป็นต้น เรามาดูกันว่ามีประเภทไหนบ้าง

ประเภทของเสียงที่เปล่งออกมา

  1. อโฆสะ คือ เสียงไม่ก้อง ได้แก่ พยัญชนะที่ 1, 2 ทั้ง 5 วรรค และ ส
  2. โฆสะ คือ เสียงก้อง ได้แก่ สระทั้งหมด, พยัญชนะที่ 3, 4, 5 ทั้ง 5 วรรค และพยัญชนะอวรรค ได้แก่ ย ร ล ว ห ฬ อํ
  3. สิถิล คือ เสียงเบา ได้แก่ พยัญชนะที่ 1, 3 ทั้ง 5 วรรค
  4. ธนิต คือ เสียงหนัก ได้แก่ พยัญชนะที่ 2, 4 ทั้ง 5 วรรค และ ห
  5. อนุนาสิก คือ มีเสียงขึ้นจมูก ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ 5 ทั้ง 5 วรรค และ อํ
  6. อัฒสระ คือ ครึ่งสระ ได้แก่ ย ร ล ว
  7. อุสุมะ คือ มีเสียงลมสอดแทรกออกมาตามฟัน ได้แก่ ส

เรื่องฐานกรณ์และการเปล่งเสียง จะมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก ข้อสอบมักจะถามรวมๆ กัน และจะพลิกแพลงเอาความรู้พื้นฐานในเรื่องฐานกรณ์มาประยุกต์กับเรื่องสระและพยัญชนะ โดยจะมีคำถามเกี่ยวกับฐานที่เกิดของสระและพยัญชนะ และถามถึงการออกเสียงคำในภาษาบาลี  ฉะนั้น จึงควรเน้นเรื่องฐานที่เกิดของสระและพยัญชนะ พยัญชนะโฆสะ อโฆสะ เสียงธนิต เสียงสิถิล เป็นต้น  ควรจำรูปตารางสรุปการออกเสียงและฐานของพยัญชนะและสระในภาษาบาลีไว้ให้ดี เพื่อความแม่นยำรวดเร็วในการทำข้อสอบ

ที่สำคัญชื่อเฉพาะแต่ละอย่าง อย่าลืมเชียว!!!