กริยาอาขยาต

เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเลยทีเดียว เนื้อหาเยอะพอสมควร แต่รับรองว่าถ้าเข้าใจแล้ว เรื่องอื่นๆ จะหมูมาก

อาขยาต ได้แก่ กริยาสำคัญ หรือกริยาคุมประโยคในภาษาบาลี ที่ใช้บ่งบอกอาการ หรือการกระทำต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นต้น ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็คือเรื่องกริยานั่นเอง

ส่วนประกอบที่สำคัญของกริยาอาขยาต ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ธาตุ ปัจจัยประจำหมวด และวิภัตติอาขยาต โดยนำทั้ง 3 ส่วนนี้มารวมกันจะได้กริยาหนึ่งตัว โดยมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหมวดธาตุ

ก่อนจะไปตรงนั้น เรามาทำความรู้จักกันดีกว่าว่าส่วนประกอบทั้ง 3 ที่ว่ามานั้น มันคืออะไรบ้าง

  • ธาตุ ได้แก่ มูลรากของคำ หรือรากศัพท์เดิม เช่น คำว่า “ขาทติ” แปลว่า เขา ย่อมกิน เป็นต้น รากศัพท์เดิมของกริยาศัพท์นี้คือ ขาทฺ ธาตุ แปลว่า “กิน” แต่ที่มีรูปเป็น “ขาทติ” เพราะนำไปประกอบกับปัจจัยและวิภัตติอาขยาตแล้วนั่นเอง ธาตุในภาษาบาลี แบ่งออกเป็น 8 หมวด แต่ละหมวด มีปัจจัยประจำหมวดเป็นของตนเอง ธาตุในภาษาบาลีทั้งหมด 8 หมวด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ สกรรมธาตุ และอกรรมธาตุ

สกรรมธาตุ คือ ธาตุที่ต้องมีกรรมมารองรับ จึงจะสื่อความหมายได้สมบูรณ์ เช่น กรฺ (ทำ) ขาทฺ (กิน) เป็นต้น

อกรรมธาตุ คือ ธาตุที่ไม่ต้องการกรรม สามารถสื่อความหมายได้สมบูรณ์ด้วยตนเอง เช่น มรฺ (ตาย) สี (นอน) เป็นต้น

  • ปัจจัยประจำหมวด ได้แก่ ส่วนที่ประกอบหลังธาตุ ก่อนนำไปประกอบกับวิภัตติอาขยาต ปัจจัยมีทั้งหมด 10 ตัว ได้แก่ อ, เอ, ย,  ณุ, ณา, นา, ณฺหา, โอ, เณ, ณฺย  ซึ่งก็จัดลงตามหมวดธาตุทั้ง 8 ที่ว่ามาแล้ว ชื่อธาตุและปัจจัยดูตารางเลยจ้า

ถ้าเรานำธาตุหมวดไหนมาประกอบเป็นกริยา ก็ต้องนำปัจจัยของมันมาด้วย เช่น ธาตุหมวดที่ 1 ก็ต้องนำ อ, เอ ตัวใดตัวหนึ่งมาด้วย จากนั้นก็นำไปประกอบกับส่วนสุดท้ายคือวิภัตติ

  • วิภัตติอาขยาต ได้แก่ คำที่นำมาแจก หรือประกอบต่อจากธาตุและปัจจัยเพื่อสร้างเป็นกริยาที่สมบูรณ์ วิภัตติอาขยาตจะเป็นตัวบ่งบอกว่ากริยาศัพท์นั้นๆ เป็นกาล บท วจนะ บุรุษ อะไร ดังรายละเอียดต่อไปนี้

กาล สิ่งที่บ่งบอกช่วงเวลาของการกระทำ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต

บท วิภัตติอาขยาตแต่ละหมวดแบ่งออกเป็น 2 บท คือ ปรัสสบท บ่งบอกกัตตุวาจก และกัมมวาจก อัตตโนบท บ่งบอก กัมมวาจกอย่างเดียว (จำบทให้ดี ว่าบทไหนใช้ยังไง)

วจนะ วิภัตติอาขยาตแต่ละหมวดแบ่งออกเป็น 2 วจนะ คือ เอกวจนะ บ่งบอกจำนวนเดียว หรือสิ่งเดียว  พหุวจนะ บ่งบอกจำนวนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป

บุรุษ วิภัตติอาขยาตแต่ละหมวดแบ่งออกเป็น 3 บุรุษ คือ ประถมบุรุษ บ่งบอกว่าเป็นกริยาของบุรุษที่ 3  มัธยมบุรุษ บ่งบอกว่าเป็นกริยาของบุรุษที่ 2 อุตตมบุรุษ บ่งบอกว่าเป็นกริยาของ  บุรุษที่ 1

วิภัตติของอาขยาตมีทั้งหมด 8 วิภัตติด้วยกัน แต่ที่ใช้บ่อยจะมี 5 วิภัตติ มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

รู้จักส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการสร้างกริยาครับ

แต่ละวิภัตติแปลว่าอย่างไร ใช้อย่างไร วิธีการสร้างแบบไหน

รออีกนิดเดียวจ้า